วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน (META – ANALYSIS)

การสังเคราะห์งานวิจัย หมายถึง การนำผลงานวิจัยตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไปมาบูรณาการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำผลการวิจัยทั้งหมดมาหาข้อสรุปร่วมกันในเรื่องที่ศึกษาโดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากผลงานวิจัยเดิม การสังเคราะห์งานวิจัยมีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ได้แก่ (1) การสังเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี หลักการของศาสตร์ (2) การสังเคราะห์ระเบียบวิธีวิจัย และ (3) การสังเคราะห์ข้อค้นพบจากผลงานวิจัย (เทพศักดิ์ บุณยรัตพันธุ์. ออนไลน์, 2553 อ้างเมื่อ 27 สิงหาคม 2553 จาก http://www.drmanage.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538662815)

การสังเคราะห์งานวิจัย ได้แก่ ระเบียบวิธีบูรณาการงานวิจัย (Method of Integrating Research) ระเบียบวิธีผสมผสานงานวิจัย (Method of Combining Research) การวิเคราะห์ผลการสังเคราะห์ (The Analysis of Analysis) หรือการวิจัยงานวิจัย (Research of Research)

1. ความหมายของการสังเคราะห์ทฤษฎีและผลงานวิจัย

การสังเคราะห์งานวิจัยมีความหมายใกล้เคียงกับคำศัพท์หลายคำ นักวิชาการทางการศึกษาได้กล่าวถึงความหมายของการสังเคราะห์งานวิจัย ไว้ดังนี้

การสังเคราะห์ทฤษฎี (กัลยานี ภาคอัต และคณะ, 2547: 11-12) หมายถึง การศึกษารวบรวมทฤษฎีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีอยู่ แล้วนำมาอธิบายสรุปให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างทฤษฎี พัฒนาการในทางประวัติศาสตร์ของทฤษฎี หรือลักษณะร่วมและลักษณะ ที่แตกต่างกันของแต่ละทฤษฎี

อุทุมพร จามรมาน (2531 : 1) ได้กล่าวถึงการสังเคราะห์ว่าเป็นส่วนย่อยหรือส่วนต่างๆมาประกอบให้เป็นเนื้อหาเดียวกัน โดยไม่เคยมีการนำสิ่งต่างๆเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันมาก่อน การสังเคราะห์แยกได้ 3 ประเภท ดังนี้

1. การสังเคราะห์จนได้ผลผลิตโดยอาศัยหน่วยย่อยๆของการสื่อความหมาย ได้แก่ การพัฒนาการสื่อความหมาย การพูด การบอกท่าทาง ความรู้สึก ประสบการณ์ให้ผู้อื่นทราบหรือเข้าใจได้

2. การสังเคราะห์จนได้ผลผลิตจากการวางแผนงาน หรือจากข้อเสนอเพื่อให้นำไปปฏิบัติ ได้แก่ การพัฒนาแผนการทำงานหรือการพัฒนาแนวความคิดของแต่ละคนจนถึงขั้นนำไปปฏิบัติ จนนำผลการประชุมวางแผนแล้วนำไปใช้จนเกิดผลสำเร็จ

3. การสังเคราะห์สิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้น ได้แก่ ความสามารถจัดความสัมพันธ์ของสิ่งที่เป็นนามธรรม เพื่อจำแนกหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ หรือการเชื่อมโยงแนวความคิดของผู้ทรงคุณวุฒิเข้าด้วยกันเพื่ออธิบายปัญหาหรือการเชื่อมโยงทฤษฎีจนได้ข้อค้นพบใหม่ทางคณิตศาสตร์

การสังเคราะห์ยังจำแนกได้อีกแบบหนึ่ง คือ การสังเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Synthesis) และการสังเคราะห์เชิงคุณลักษณะ (Qualitative Synthesis) การสังเคราะห์เชิงปริมาณเป็นการสังเคราะห์สิ่งที่เป็นนามธรรม โดยใช้วิธีการทางสถิติมาวิเคราะห์หาข้อสรุปอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ สรุปอ้างอิงส่วนการสังเคราะห์เชิงคุณลักษณะนั้นเป็นการรวบรวมเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน และบรรยายสรุปออกมา การสังเคราะห์แบบนี้จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการ ลักษณะการสังเคราะห์งานวิจัยนี้ส่วนใหญ่จะพบในรายงานการวิจัย บทที่ว่าด้วยเอกสารและการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

กล่าวโดยสรุป การสังเคราะห์งานวิจัย หมายถึง การศึกษารวบรวมงานวิจัยที่มีอยู่แล้วนำมาอธิบายสรุปให้เห็นประเด็นสำคัญที่พบจากการวิจัยเหล่านั้น เพื่อให้เห็นภาพรวมของการวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเพื่อให้เห็นแบบแผนของปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นผลมาจากงานวิจัยเหล่านั้น และในการที่จะสังเคราะห์งานวิจัยได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการของการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ แล้วนำข้อมูลสรุปรวมให้ได้เป็นคำตอบที่เป็นข้อยุติ และนำความรู้ไปใช้เกิดประโยชน์

2. ความสำเร็จและความจำเป็นของการสังเคราะห์งานวิจัย

เป้าหมายของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่หรือสร้างทฤษฎีใหม่ ต้องอาศัยงานวิจัยโดยหาวิธีที่เหมาะสมกับเพื่อหาข้อสรุปของการค้นพบ วิธีการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปริมาณระยะแรก ได้แก่ วิธีนับคะแนนเสียง (Vote-counting Method) วิธีการประมาณค่าขนาดอิทธิพล (Effect Size Estimation) และวิธีรวมค่าความน่าจะเป็น (Probability Acummulation) การสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปริมาณในระยะแรกให้ความสำคัญกับลำดับของปรากฏการณ์ แต่ไม่ช่วยให้เห็นภาพรวมของงานวิจัย จึงเริ่มมีการสังเคราะห์งานวิจัยกับผลการทดสอบสมมุติฐาน จากนั้นการนำระดับนัยสำคัญทางสถิติ หรือค่าความน่าจะเป็นมาใช้ในการสังเคราะห์ เพื่อให้ข้อมูลในการสรุปผลมีระบบมากขึ้น โดยบุคคลแรกที่ได้บัญญัติศัพท์คำว่า Meta-analysis of Research หรือ การสังเคราะห์งานวิจัยด้วยการวิเคราะห์อภิมาน และอธิบายว่า เป็นการวิจัยเพื่อสรุปสาระจากงานวิจัยโดยใช้งานวิจัยเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ จึงเป็นการวิเคราะห์ที่เหนือกว่าและลึกซึ้งกว่าการวิเคราะห์ในงานวิจัยทั่วไป คือศาสตราจารย์ Gene V.Glass ในระยะหลังนักวิจัยได้ข้อค้นพบความสำคัญของงานวิจัย คือขนาดอิทธิพล (Effect Size) อันเป็นค่าสถิติที่เป็นดัชนีมาตรฐานซึ่งมีสารสนเทศเกี่ยวกับผลการวิจัยที่สมบูรณ์ จึงได้พัฒนาวิธีการสังเคราะห์งานวิจัยโดยการรวมค่าขนาดอิทธิพลได้เป็นวิธีการอันเป็นต้นกำเนิดของการวิเคราะห์อภิมาน (Meta Analysis)

ปัจจุบันงานวิจัยมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ในการสังเคราะห์ผลที่ได้จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในรายงานวิจัยที่นักวิจัยส่วนใหญ่ใช้วิธีการสังเคราะห์แบบบรรยายสรุป ดังนั้นงานวิจัยที่ได้ใช้การวิเคราะห์อภิมานในการสังเคราะห์งานวิจัยยังมีส่วนน้อย

3. ความหมายของการวิเคราะห์อภิมาน

สำหรับคำว่า Meta – analysis นักวิจัยการศึกษาของไทยได้แปลคำศัพท์ไว้แตกต่างกัน ดังนี้ การวิเคราะห์แบบเมตต้า การวิเคราะห์แบบเมต้า การวิเคราะห์แบบเมทต้า การวิเคราะห์รวมผล การอภิเคราะห์ และการวิเคราะห์อภิมาน ซึ่งในงานวิจัยฉบับนี้ จะใช้คำว่า การวิเคราะห์อภิมาน

การวิเคราะห์อภิมานเป็นการวิจัยงานวิจัย (Research of Research) โดยใช้วิธีการทางสถิติมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปอย่างมีระบบจากงานวิจัยหลายๆ เรื่อง ที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน การวิเคราะห์อภิมานงานวิจัย เป็นคำที่ G.V.Glass เป็นผู้นำมาใช้เป็นครั้งแรก หมายถึง การวิเคราะห์ทางสถิติผลของการวิจัยจำนวนมากจากงานวิจัยต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปเชิงบูรณาการ (Integrating Finding ) วิธีการดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายความรวมถึงการบรรยายเชิงเหตุผล เพื่อสรุปผลการวิจัยด้วยวิธีต่างๆ ที่ไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์ผลการวิจัยเชิงสถิติ นอกจากนี้การวิเคราะห์อภิมานงานวิจัยยังมีความแตกต่างจากการทุติยวิเคราะห์ (Secondary Analysis) ซึ่งหมายถึง การวิเคราะห์ผลการวิจัยเรื่องเดิมหรือที่เรียกว่า การปฐมวิเคราะห์ (Primary Analysis) ด้วยวิธีการทางสถิติที่ดีกว่าเพื่อตอบคำถามเชิงวิจัยของงานเดิมเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น

นิยามหรือความหมายของคำว่า การวิเคราะห์อภิมาน ได้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ให้ ความหมาย ไว้ (นงลักษณ์ วิรัชชัย 2542 : 42) ดังนี้

Glass, McGaw and Smith (1981 : 37-38)ได้ให้ความหมายการสังเคราะห์งานวิจัยด้วยการวิเคราะห์อภิมานว่า เป็นการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อสังเคราะห์งานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกันโดยใช้วิธีการทางสถิติข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ อภิมานประกอบด้วยผลการวิจัยวัดในรูปขนาดอิทธิพลและคุณลักษณะงานวิจัย การวิเคราะห์ให้ความสำคัญกับขนาดอิทธิพลมากกว่าระดับนัยสำคัญของการรวมค่าขนาดอิทธิพลและให้ความสำคัญกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะงานวิจัยกับขนาดอิทธิพล

Hedges and Olkin (1985 : 48) ได้ให้ความหมายว่า การวิเคราะห์อภิมาน เป็นวิธีการวิเคราะห์ผลของการวิเคราะห์ทางสถิติที่ได้จากงานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อค้นพบที่เป็นข้อยุติ กิจกรรมในการวิเคราะห์อภิมานมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรก เป็นการรวบรวมสารสนเทศที่ได้จากรายงานการวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ คุณภาพของสารสนเทศขึ้นอยู่กับวิธีการรวบรวมสารสนเทศ ว่ามีความตรง ความเชื่อถือได้ และความเป็นปรนัยมากเพียงใด ลักษณะที่สองเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งให้ความสำคัญกับระเบียบวิธีทางสถิติ เนื่องจากสถิติวิเคราะห์ที่ใช้ในการวิจัยทั่วไปเป็นสถิติสำหรับการวิจัยเชิงทดลองเรื่องเดียว หรือการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์เรื่องเดียวดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์สารสนเทศขึ้นใหม่สำหรับการวิเคราะห์อภิมาน ให้สามารถสรุปความหมายสารสนเทศที่ได้จากรายงานวิจัยหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งศึกษาปัญหาวิจัยแบบเดียวกันได้

Kulik and Kulik (1989 : 213) ได้ให้ความหมายว่า การวิเคราะห์อภิมาน เป็นการสังเคราะห์งานวิจัยที่มีวิธีการวิเคราะห์ สองลักษณะ ลักษณะแรก คือการประมาณค่าดัชนีความสัมพันธ์ ทั้งแบบที่เป็นการประมาณค่าด้วยวิธีการทางสถิติ และการประมาณค่าโดยการหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าเฉลี่ยของตัวแปรในงานวิจัย ลักษณะที่สอง คือการรวมค่าดัชนีความสัมพันธ์ และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรกับดัชนีความสัมพันธ์ที่ประมาณค่าได้

Keulen and Wolf (1986 : 24) ให้ความหมายว่า การวิเคราะห์อภิมาน เป็นการศึกษางานวิจัยทุกเรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน โดยการนำงานวิจัยมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ เพื่อแยกงานวิจัยที่ให้ผลการวิจัยที่เป็นผลสุดโต่ง (outlier) ออกจากกลุ่ม และนำงานวิจัยที่ให้ผลการวิจัยคล้ายคลึงกันมาวิเคราะห์เพื่อประมาณค่าความสัมพันธ์ หรือแนวโน้ม ที่เป็นข้อสรุปตอบปัญหาวิจัย

Mullen B. (1989 : 132) ให้ความหมายว่า การวิเคราะห์อภิมานเป็นกระบวนการเชิงปริมาณที่บูรณาการ และสรุปรวมรายงานวิจัย โดยให้ผลสรุปที่ถูกต้อง กระบวนการดำเนินงานเริ่มจากการกำหนดตัวเลขแทนคุณลักษณะและผลของการวิจัยแต่ละเรื่อง จากนั้นเป็นการใช้วิธีการทางสถิติสังเคราะห์งานวิจัยเข้าด้วยกัน การวิเคราะห์อภิมานมิได้ใช้วิธีการทางสถิติแบบเดียวในการสังเคราะห์แต่ใช้วิธีการทางสถิติหลายแบบในการสังเคราะห์งานวิจัย แต่ละแบบเหมาะสมกับจุดมุ่งหมายลักษณะรายงานการวิจัย และผลการวิจัยที่นำมาสังเคราะห์

ความหมายของการวิเคราะห์อภิมาน โดยนงลักษณ์ วิรัชชัย (2542 : 42) คือ การสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปริมาณแบบหนึ่งที่นักวิจัยนำงานวิจัยซึ่งศึกษาปัญหาเดียวกันมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อสังเคราะห์ให้ได้ข้อสรุปที่มีความกว้างขวางลุ่มลึกกว่าผลงานวิจัยแต่ละเรื่อง ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์อภิมาน คือ ดัชนีมาตรฐาน ได้แก่ ดัชนีขนาดอิทธิพลและดัชนีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และข้อมูลคุณลักษณะงานวิจัย หน่วยการวิเคราะห์ คืองานวิจัยหรือการทดสอบสมมุติฐาน จุดมุ่งหมายในการวิเคราะห์แยกได้เป็น 2 ประการ ประการแรก คือ การสังเคราะห์ให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับดัชนีมาตรฐาน ประการที่สอง คือ การวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรปรับกับดัชนีมาตรฐาน

การวิเคราะห์อภิมานโดย ปริวัตร เขื่อนแก้ว (ออนไลน์, 2551 อ้างเมื่อ 14 เมษายน 2551 จาก http://www.wijai48.com) หมายถึง การสังเคราะห์ผลการวิจัยเชิงปริมาณหลายๆ เรื่องศึกษาปัญหาการวิจัยเดียวกันโดยใช้วิธีการทางสถิติทำการสังเคราะห์อย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่จะสังเคราะห์สรุปผลการวิจัยทั้งหมดเพื่อตอบปัญหาการวิจัย

ความหมายของการวิเคราะห์อภิมานกล่าวโดยสรุปคือ การสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปริมาณแบบหนึ่งที่ได้ศึกษาปัญหาเดียวกันมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติให้ได้ข้อสรุปและผลงานวิจัยที่ลุ่มลึกในเรื่องที่ศึกษาเรื่องนั้น

ประเด็นที่ต้องพิจารณาจากความหมายของการการวิเคราะห์อภิมานเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดมีอยู่ 3 ประเด็น (นงลักษณ์ วิรัชชัย 2542 : 44-57) ประเด็นแรก งานวิจัยที่จะสังเคราะห์ต้องศึกษาปัญหาเดียวกัน ประเด็นที่สอง ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์อภิมานคืองานวิจัย ประเด็นที่สาม หน่วยการวิเคราะห์คืองานวิจัยในการวิเคราะห์อภิมานคืองานวิจัยหรือการทดสอบสมมุติฐาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ต้องเป็นงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาเดียวกัน

ประเด็นเรื่อง “งานวิจัยต้องศึกษาปัญหาเดียวกัน” เป็นประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะถ้าไม่สามารถทำความเข้าใจประเด็นนี้ได้ถูกต้องจะมีปัญหาในการคัดเลือกงานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ตามความหมายของประเด็นนี้งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ต้องมีปัญหาวิจัยตรงกัน แต่งานวิจัยอาจจะใช้แบบแผนการวิจัยต่างกัน เครื่องมือวัดต่างกัน กลุ่มตัวอย่างต่างกัน วิธีการวิเคราะห์ต่างกันก็ได้ ในที่นี้จึงขึ้นอยู่กับการนิยามและการกำหนดขอบเขตของตัวแปรต้นให้ครอบคลุมในภาพรวม หลังจากนั้นจึงแยกกลุ่มตัวแปรตามและทำการศึกษาการสังเคราะห์การวิจัย ได้

ประเด็นที่ 2 ข้อมูลสำหรับการการวิเคราะห์อภิมาน

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ งานวิจัยเป็นข้อมูลสำหรับการสังเคราะห์งานวิจัยด้วยการวิเคราะห์อภิมาน ข้อมูลในที่นี้ประกอบด้วย ผลการวิจัยจากงานวิจัยแต่ละเรื่อง และคุณลักษณะงานวิจัย เนื่องจากงานวิจัยแต่ละเรื่องศึกษาตัวแปรต่างกัน หรือแม้จะศึกษาตัวแปรเหมือนกันแต่ก็อาจใช้เครื่องมือวัดต่างกัน ดังนั้นผลการวิจัยจากงานวิจัยแต่ละเรื่องจึงไม่อยู่ในสเกลเดียวกัน จำเป็นต้องทำให้อยู่ในรูปดัชนีมาตรฐาน (Standard Indices)

เนื่องจากในการวิจัยไม่ว่าจะเป็นการวิจัยเชิงทดลองหรือเชิงสหสัมพันธ์ ถ้ามีจุดมุ่งหมายของการวิจัยที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องกันระหว่างตัวแปร ผลการวิจัยที่สำคัญคือขนาดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ดังนั้นดัชนีมาตรฐานที่สร้างขึ้นจึงมุ่งบอกค่าขนาดความสัมพันธ์ดังกล่าว ดัชนีมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปริมาณมี 2 แบบ คือแบบแรก ค่าความน่าจะเป็นและแบบที่สอง คือค่าสถิติความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหรือดัชนีความสำคัญของอิทธิพล (Effect Magnitude) แต่ค่าความน่าจะเป็นนั้นเป็นที่เป็นสารสนเทศน้อยกว่าจึงลดความนิยมลงและพัฒนาดัชนีขึ้นมาและดัชนีที่นิยมใช้กันอยู่แล้ว มีอยู่ 6 ชนิด ดังนี้

ดัชนีชนิดแรก สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) เป็นค่าสถิติที่ถูกนำมาใช้เป็นดัชนีมาตรฐานในการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ ค่าสถิติพัฒนาโดย Pearson,K. เมื่อ ค.ศ.1904

ดัชนีชนิดที่สอง คะแนนผลต่างระหว่างค่าเฉลี่ยเป็นดัชนีสำหรับการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงทดลอง ดัชนีนี้มีค่าเท่ากับผลต่างค่าเฉลี่ยกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม พัฒนาโดย Cochran เมื่อ ค.ศ.1937 ดัชนีมาตรฐานชนิดนี้ขาดสมบัติความเป็นคะแนนมาตรฐาน เพราะค่าดัชนีเป็นฟังก์ชันของมาตรวัดตัวแปร และมีค่าแตกต่างกันตามตัวแปรตามในการวิจัย ช่วงเวลาต่อมาจึงไม่เป็นที่นิยมใช้

ดัชนีชนิดที่สาม ขนาดอิทธิพล (Effect Size) เป็นค่าสถิติที่ถูกนำมาใช้เป็นดัชนีมาตรฐานสำหรับงานสังเคราะห์งานวิจัยเชิงทดลอง ค่าสถิตินี้ พัฒนาโดย Cohen, J. เมื่อ ค.ศ.1969 ดัชนีตัวนี้เป็นการนำค่าดัชนีชนิดที่สองมาให้เป็นคะแนนมาตรฐานโดยการหารด้วยค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ดัชนีชนิดที่สี่ คือ อัตราส่วนระหว่างค่าสถิติกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พัฒนาโดยMantel และ Haenszel เมื่อ ค.ศ.1959 ดัชนีชนิดนี้ใช้การเปรียบเทียบค่าสถิติของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยการหาร เช่น ถ้าใช้ค่าเฉลี่ยจะบอกความสำคัญของอิทธิพลโดยการเปรียบเทียบว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มทดลองมีค่าสูงเป็นกี่เท่าของกลุ่มควบคุม

ดัชนีชนิดที่ห้า คือ ผลต่างของสัดส่วนในกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม พัฒนาโดย Devine และ Cook เมื่อ ค.ศ.1983 ดัชนีชนิดนี้ไม่สนใจค่าสถิติแต่ให้ความสำคัญกับความถี่ในแต่ละกลุ่มเหมาะสำหรับงานวิจัยที่มีระดับการวัดตัวแปรระดับนามบัญญัติ หรือเรียงอันดับ

ดัชนีชนิดที่หก คือ ผลต่างระหว่างความถี่ที่คาดหวังกับความถี่ที่สังเกตได้ พัฒนาโดย Yusuf, Peto , Lewis , Collins และ Sleight เมื่อ ค.ศ.1985 ดัชนีชนิดนี้ใช้หลักการคล้ายกับการคำนวณค่าไค-สแควร์ จุดประสงค์ของการบอกความสำคัญของอิทธิพลอยู่ที่ความถี่ เหมาะสำหรับงานวิจัยที่มีระดับการวัดตัวแปรระดับนามบัญญัติ หรือเรียงอันดับ

แม้ว่าดัชนีมาตรฐานที่บอกความสำคัญของขนาดอิทธิพลจะได้รับการสร้างและพัฒนาขึ้น มาหลายชนิดแต่ดัชนีที่นิยมใช้กันในการวิเคราะห์อภิมานตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีเพียงสองชนิด คือ ค่าขนาดอิทธิพล (Effect size) และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์

Glass, Mc Gaw and Smith (1981 : 38-40) เสนอสูตรการประมาณค่าขนาดอิทธิพล และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จากงานวิจัยแต่ละเรื่อง โดยนำเสนอวิธีการประมาณค่าโดยการคำนวณโดยตรงจากค่าสถิติที่ได้จากกลุ่มตัวอย่าง ค่าขนาดอิทธิพลมีค่าเท่ากับอัตราส่วนระหว่างผลต่างของค่าเฉลี่ยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กับส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดังสมการ

clip_image002

เมื่อ d แทน ดัชนีมาตรฐานที่แสดงขนาดอิทธิพลของตัวแปรจัดกระทำ

clip_image004 แทน ค่าเฉลี่ยกลุ่มทดลอง

clip_image006 แทน ค่าเฉลี่ยกลุ่มควบคุม

S แทน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มควบคุม

ตามสูตรดังกล่าว เป็นการคำนวณเบื้องต้นของ Glass and Mc Gaw Smith (1981 : 39) (นงลักษณ์ วิรัชชัย 2542 : 42) ค่าขนาดอิทธิพลมีค่าเท่ากับอัตราส่วนระหว่างผลต่างของค่าเฉลี่ยกลุ่มทดลองและควบคุม กับส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Glass เสนอให้ใช้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มควบคุมในการคำนวณโดยอ้างว่า ค่าส่วนเบี่ยงเบนของกลุ่มควบคุมเป็นค่าสถิติเมื่อยังไม่มีการให้ตัวแปรจัดกระทำ ดังนั้นค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจากกลุ่มควบคุมจึงน่าจะเป็นค่าประมาณที่ดีของค่าพารามิเตอร์ Hunter, Schmidt and Jackson (1982 : 34) Hedges and Olkin (1985 : 52) เสนอแนะว่าควรใช้ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานร่วม (Pooled Standard Deviation) เป็นตัวหาร ตามสูตรของ Glass และสูตรของ Hunter กับของ Hedges จะได้ผลต่างกันเล็กน้อยเพราะตัวหารที่แตกต่างกันดังนั้นสูตรสำหรับการปรับแก้ค่าขนาดอิทธิพลที่คำนวณจากสูตรทั้งสองแบบเป็นที่ยอมรับของนักสถิติ

ค่าดัชนีมาตรฐานอีกตัวหนึ่ง คือ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ สำหรับข้อมูลในการวิเคราะห์อภิมานอีกส่วนหนึ่งคือ คุณลักษณะงานวิจัย นอกจากนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์อภิมานจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการวิจัยในรูปดัชนีมาตรฐานแล้ว ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะงานวิจัยด้วย ตัวอย่างของตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัยที่ใช้อยู่ในการวิเคราะห์อภิมานแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง ตัวแปรเกี่ยวกับลักษณะการพิมพ์ ได้แก่ ปีที่พิมพ์ จำนวนหน้า คุณภาพการพิมพ์ หน่วยงานต้นสังกัดและประวัติของผู้วิจัย

กลุ่มที่สอง ตัวแปรเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ (Substance) ได้แก่ ประเภททฤษฎีที่ใช้ การตั้งสมมุติฐานวิจัย ลักษณะกรอบความคิดในการวิจัย ความลึกซึ้งของปัญหาวิจัย จำนวนเอกสารอ้างอิง จำนวนเอกสารอ้างอิงเฉพาะส่วนที่เป็นงานวิจัยที่ทันสมัย ประเภทของตัวแปรต้น ประเภทของตัวแปรตาม ประเภทของกลุ่มตัวอย่าง จำนวนตัวแปรต้น จำนวนตัวแปรตาม

กลุ่มที่สาม ตัวแปรเกี่ยวกับวิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodology) ได้แก่ ประเภทและขนาดกลุ่มตัวอย่าง ประเภทและความเที่ยงของเครื่องมือวิจัย ลักษณะแบบแผนการวิจัย วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง วิธีการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน ระยะเวลาการทดลอง ลักษณะผู้ทำการทดลอง ประเภทสถิติวิเคราะห์ที่ใช้ การตรวจสอบข้อตกลงเบื้องต้น

ประเด็นที่ 3 หน่วยการวิเคราะห์

หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) สำหรับการวิเคราะห์อภิมาน มีลักษณะแตกต่างจากหน่วยการวิเคราะห์ในงานวิจัย ในการวิจัยโดยทั่วไปทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ หน่วยการวิเคราะห์ คือ หน่วยตัวอย่างแต่ละคนที่ให้ข้อมูลสำหรับการวิจัย งานวิจัยบางเรื่องอาจมีหน่วยการวิเคราะห์เป็นระดับองค์กร งานวิจัยจึงเป็นการวิเคราะห์พหุระดับ มีหน่วยการวิเคราะห์มีทั้งระดับนักเรียน ระดับชั้นเรียน และระดับโรงเรียน แต่หน่วยการวิเคราะห์สำหรับการสังเคราะห์งานวิจัยส่วนใหญ่คือการวิเคราะห์ระดับบุคคล (Individual Level) ส่วนการวิเคราะห์อภิมานนักวิจัยจะไม่มีข้อมูลระดับบุคคลหรือระดับจุลภาค มีผลการวิจัยจากงานวิจัยแต่ละเรื่อง

ในงานวิจัยที่มีการประมาณค่าดัชนีมาตรฐานหลายค่าจากงานวิจัยเรื่องเดียวกัน ค่าดัชนีมาตรฐานเหล่านั้นมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียวกัน ในทางสถิติถือว่า การวิเคราะห์แต่ละครั้งไม่เป็นอิสระต่อกัน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกัน (Dependent) ทั้งหมด ดังนั้นดัชนีมาตรฐานที่ได้แต่ละค่าจากงานวิจัยเรื่องเดียวกันจึงไม่เป็นอิสระต่อกัน ข้อเท็จจริงประเด็นนี้ทำให้หน่วยการวิเคราะห์ในการวิเคราะห์อภิมานไม่เป็นอิสระต่อกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติวิเคราะห์ ดังนั้นนักวิจัยต้องวิเคราะห์ตัวแปรใดที่มีความแปรปรวนของดัชนีมาตรฐานนั้น กระบวนการวิเคราะห์จึงต้องแบ่งกลุ่มผลการวิจัยหรือแบ่งกลุ่มดัชนีมาตรฐานออกเป็นกลุ่มงานวิจัย เช่นแบ่งเป็นกลุ่มงานวิจัยที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ปานกลางและเล็ก เป็นสามกลุ่ม แล้วจึงวิเคราะห์ต่อว่าในหน่วยระดับกลุ่มงานวิจัยหรือชุดการวิจัยนั้น มีตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัย หรือตัวแปรใด มีผลทำให้ค่าดัชนีมาตรฐานแตกต่างกันได้อีก

การศึกษาปัญหางานวิจัยเดียวกันไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแปรตรงกันทั้งตัวแปรต้นและตัวแปรตาม แต่เป็นงานวิจัยที่ศึกษาตัวแปรที่เป็นส่วนหนึ่งหรือมิติย่อยของตัวแปร โดยงานวิจัยแต่ละเรื่องนั้น อาจดำเนินการวิจัยแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ข้อมูลสำหรับการอภิมาน ได้แก่ ดัชนีมาตรฐานที่ใช้วัดผลการวิจัย และคุณลักษณะงานวิจัย การประมาณค่าดัชนีมาตรฐานมีการพัฒนาให้ดีขึ้น นับตั้งแต่ผลต่างระหว่างค่าเฉลี่ย ผลต่างของสัดส่วน จนมาถึงค่าขนาดอิทธิพล และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์

4. ลักษณะเฉพาะของการวิเคราะห์อภิมาน

การวิเคราะห์อภิมานมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากการปริทัศน์แบบพรรณนาและการวิจัยโดยทั่วไป สรุปโดยปริวัตร เขื่อนแก้ว (ออนไลน์, 2551 อ้างเมื่อ 14 เมษายน 2551 จาก http://www.wijai48.com) ได้ 5 ประการดังนี้

1. ในการวิเคราะห์อภิมาน การนิยามตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยต้องทำด้วยความรอบคอบ ให้ครอบคลุมนิยามตัวแปรแต่ละเรื่อง ขณะเดียวกันต้องชัดเจนว่าตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยแต่ละเรื่องเหมือนหรือต่างกันอย่างไร การทำความเข้าใจนิยามของตัวแปรแต่ละเรื่องจะช่วยให้นักวิจัยมีความชัดเจนว่าผลการวิจัยที่ได้มาจากงานวิจัยแต่ละเรื่องมีค่าแตกต่างกันเพราะความแตกต่างของนิยามและการวัดตัวแปรในการวิจัยแต่ละเรื่องด้วย ดังนั้นในการวิเคราะห์อภิมานต้องกำหนดนิยามตัวแปรสำหรับการสังเคราะห์งานวิจัย และกำหนดนิยามตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัย เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติ ในขณะที่การปริทัศน์งานวิจัยไม่เน้นการนิยามตัวแปรและการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ

2. ต้องมีการสร้างเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลและต้องมีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ ซึ่งเครื่องมือสำหรับการสังเคราะห์งานวิจัยด้วยการวิเคราะห์อภิมานมีอยู่แบบเดียว คือแบบบันทึกและลงรหัสข้อมูล

3. ในการวิเคราะห์อภิมานทุกเรื่องมีตัวแปรตามที่เป็นดัชนีมาตรฐานเสมอ ค่าดัชนีมาตรฐานที่สำคัญที่สุด คือ ขนาดอิทธิพล (Effect Size) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient)

4. ในการวิเคราะห์อภิมาน นักวิจัยต้องสำรวจรายงานการวิจัยแต่ละกลุ่มเพื่อให้ได้ตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัยที่จะใช้เป็นตัวแปรต้น หรือตัวแปรในการอธิบายความแตกต่างของเลขดัชนีมาตรฐาน

5. ตัวแปรตามในการวิเคราะห์อภิมาน คือ ผลการวิจัยซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจากงานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ที่วัดในรูปดัชนีมาตรฐาน ส่วนตัวแปรต้นในการวิเคราะห์อภิมาน คือ ตัวแปรคุณลักษณะการวิจัย หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์อภิมานจึงอยู่ที่การวิเคราะห์เปรียบเทียบว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่นักวิจัยสนใจศึกษาในงานวิจัยแต่ละเรื่องมีค่าเป็นเท่าไรในเงื่อนไขที่ต่างกัน ลักษณะความสัมพันธ์มีเงื่อนไขที่ได้จากการวิเคราะห์อภิมาน ทำให้ผลการวิเคราะห์อภิมานให้ผลการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งมากกว่าผลการวิจัยเดิม

5. ขั้นตอนการวิเคราะห์อภิมานงานวิจัย

การวิเคราะห์อภิมานประกอบด้วย 4 ขั้นตอน (ปิยมาภรณ์ ดวงมนตรี (ออนไลน์) 2551, อ้างเมื่อ 14 เมษายน 2551 จาก http://san.anamai.moph.go.th/km/view.asp?userid=1&topicid=28) คือ

1. การค้นหารวบรวมงานวิจัย

การเริ่มต้นค้นหารวบรวมงานวิจัยจากการกำหนดปัญหาการวิจัย ซึ่งต้องเป็นปัญหาการวิจัยที่มีการทำวิจัยมาแล้วเป็นจำนวนมากพอสมควร และเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้คำตอบสรุปแน่ชัดลงไปว่าเป็นประการใดการรวบรวมงานวิจัยที่ศึกษาเป็นปัญหาเดียวกัน ให้ยึดตัวแปรตามของแต่ละเรื่องเป็นหลัก เมื่อกำหนดปัญหาแล้วก็นิยามปัญหาให้ชัดเจน ศึกษาแนวคิด หลักการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาให้ครอบคลุมเพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดแบบแผน และสมมติฐานการวิจัย งานวิจัยเรื่องหนึ่งๆ อาจมีค่าดัชนีมาตรฐานมากกว่า 1 ค่า ดังนั้นการนับหน่วยวิเคราะห์จึงต้องพึงระวัง และจำนวนงานวิจัยที่มาสังเคราะห์ไม่ควรน้อยกว่า 10 เรื่อง อนึ่งแหล่งของงานวิจัยที่จะนำมาทำการศึกษานั้น ผู้วิจัยควรจะได้ระบุไว้ด้วยว่าหามาได้อย่างไร และจากแหล่งใด เพื่อที่จะได้ผู้ทำการวิเคราะห์อภิมานงานวิจัยในภายหลังทราบได้เมื่อต้องการที่จะขยายขอบเขตของกลุ่มตัวอย่างออกไปให้มากยิ่งขึ้น ปกติแล้วผลการวิจัยอาจพบได้จากหนังสือรวมบทคัดย่อ ผลการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ หรือจากวารสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยของหน่วยงาน เป็นต้น

2. การระบุ จำแนก ตรวจสอบลงรหัสงานวิจัย

เป็นการปรับข้อมูลจากงานวิจัยให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่เป็นดัชนีมาตรฐานซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาการวิจัย (Substantive) และวิธีการวิจัย (Methodological) ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์อภิมานจะครอบคลุมข้อมูลต่างๆ เช่น ปีที่ทำการวิจัย ประเภทของการวิจัย (เป็นวิทยานิพนธ์/ รายงานวิจัย) ประชากร ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะถูกแปลงให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณตามรหัสที่กำหนดคุณลักษณะของสิ่งที่วัดและการจำแนกลงรหัสนั้นจะสัมพันธ์กับคุณลักษณะของงานวิจัย และผลการวิจัยการปรับข้อมูลจากงานวิจัยให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่เป็นดัชนีมาตรฐานเพื่อนำมาสังเคราะห์นั้นก่อนจะสังเคราะห์ต้องตรวจสอบคุณลักษณะของข้อมูลก่อน โดยพิจารณาทั้งความเที่ยงตรง (Validity) ของข้อมูลและความเชื่อมั่น (Reliability) ของข้อมูล ซึ่งความเที่ยงตรงนี้พิจารณาจากความชัดเจนในการนิยามของสิ่งที่จะมาจำแนกลงรหัสผู้สังเคราะห์งานวิจัยต้องระมัดระวังในการอ่านและจำแนกรหัสให้ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจในความถูกต้องของการปรับข้อมูลนั้นส่วนปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นจะมีในกรณีที่ผู้จำแนกข้อมูลเพื่อการลงรหัสมีหลายคน จึงต้องมีเกณฑ์เดียวกันในการลงรหัสสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการปรับข้อมูลจากงานวิจัย คือ การจำแนกคุณลักษณะงานวิจัยซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งในส่วนที่เป็น เนื้อหา และวิธีการดำเนินการวิจัย ฉะนั้นในการสร้างแบบรวบรวมข้อมูลเพื่อการจำแนกลงรหัสจึงต้องประกอบด้วยข้อมูลในส่วนที่เป็นเนื้อหา ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยกับส่วนที่เป็นวิธีการวิจัย เช่น ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ เป็นต้น เพราะในการวิเคราะห์อภิมานนั้นจะหาข้อสรุปจากงานวิจัย ความแตกต่างของผลวิจัยและเรื่องจึงควรพิจารณาได้ว่าเกิดเนื่องจากเนื้อหาหรือวิธีการวิจัย

3. การวัดตัวแปรจากผลการวิจัย

วัตถุประสงค์ในการสรุปผลวิจัยนั้น เพื่อการประมาณค่าคุณลักษณะประชากรจากค่าสถิติที่คำนวณจากผลวิจัย ซึ่งค่าดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนที่สุดในการบอกระดับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอันเป็นผลวิจัย การวิเคราะห์อภิมานจึงมีลักษณะสำคัญ คือ การประมาณค่าความสัมพันธ์ของประชากรจากงานวิจัยเชิงความสัมพันธ์ และการประมาณค่าขนาดอิทธิพลของประชากรจากงานวิจัยเชิงทดลองแต่เนื่องจากผลการวิจัยที่นำมาสังเคราะห์มีแบบแผนการวิจัยที่ต่างกันวิเคราะห์ค่าสถิติด้วยวิธีการต่างกันจึงทำให้ค่าสถิติจากงานวิจัยแต่ละเรื่องแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ต้องนำค่าสถิติเหล่านั้นมาเปลี่ยนให้เป็นหน่วยมาตรฐานเดียวกันเสียก่อน ดังนั้นผู้สังเคราะห์จึงต้องสร้าง (คำนวณ) ดัชนีมาตรฐานจากงานวิจัยต่างๆ ซึ่งแยกเป็น 2 ประเภท ตามประเภทของงานวิจัย คือ ค่าขนาดอิทธิพล ( Effect Size or Effect Magnitude : ES, d) ซึ่งเป็นดัชนีมาตรฐานสำหรับงานวิจัยเชิงทดลอง และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ( Correlation Coefficient : r) ซึ่งเป็นดัชนีมาตรฐานสำหรับงานวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Correlation Research)

4. การวิเคราะห์ข้อมูล

มีหลักการเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ทางสถิติในงานวิจัยทั่ว ๆ ไป โดยใช้งานวิจัยแต่ละเรื่องเป็นหน่วยการวิเคราะห์ หาค่าเฉลี่ยของดัชนีมาตรฐานหรือผลการทดลองว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด ส่วนค่าความแปรปรวนของดัชนีมาตรฐานจะบอกให้ทราบว่าดัชนีมาตรฐานของงานวิจัยแต่ละเรื่องมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด เมื่อพบความแตกต่างของดัชนีมาตรฐาน ต้องวิเคราะห์เพื่ออธิบายความแปรปรวนของดัชนีมาตรฐาน โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (ANOVA) หรือการวิเคราะห์การถดถอย ( Regression Analysis ) โดยมีตัวแปร คุณลักษณะงานวิจัยเป็นตัวแปรอิสระ และดัชนีมาตรฐานเป็นตัวแปรตาม เพื่ออธิบายว่าตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัยใด อธิบายความแปรปรวนของดัชนีมาตรฐานมากน้อยเพียงใด

การวิเคราะห์อภิมานประกอบด้วย 5 ขั้นตอน โดยสาลี เฉลิมวรรณพงศ์, จิรพรรณ พีรวุฒิ และประภาพร ชูกำเหนิด (ออนไลน์, 2551 อ้างเมื่อ 14 เมษายน 2551 จาก http://www.nur.

psu.ac.th/about/Graduate) ได้สรุปถึงการวิเคราะห์อภิมานเช่นเดียวกับการดำเนินการวิจัยทั่วไป ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดปัญหา เป็นการตัดสินในว่าการวิเคราะห์อภิมานมุ่งหมาย จะตอบคำถามในประเด็นใด จะต้องกำหนดแนวทางการเลือกงานวิจัยให้ชัดเจน ซึ่งจะได้มาจากการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนที่ 2 การสำรวจและรวบรวมงานวิจัย ขั้นตอนนี้เป็นการศึกษาวรรณกรรม มาเป็นตัวกำหนดลักษณะงานวิจัยที่จะนำมาสังเคราะห์ รวมทั้งการกำหนดวิธีการสืบค้นงานวิจัย กำหนดจำนวนงานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ รวมทั้งการคัดเลือกงานวิจัยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องการศึกษา

ขั้นตอนที่ 3 การรวบรวมข้อมูล กลุ่มประชากรสำหรับการสังเคราะห์งานวิจัย คือ รายงานการวิจัยที่ศึกษาปัญหาวิจัยตามที่กำหนดไว้ในปัญหาการวิจัย ข้อมูลสำหรับสังเคราะห์งานวิจัยมีผลการวิจัยซึ่งวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในรูปดัชนีมาตรฐาน (ขนาดอิทธิพล/สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์) และคุณลักษณะของรายงานการวิจัย ขั้นตอนนี้เป็นการนำผลข้อค้นพบหรือผลการวิจัยแต่ละเรื่องมาประมาณค่าให้เป็นดัชนีมาตรฐาน ทำการบันทึกในเครื่องมือวิจัยที่เป็นแบบบันทึก เพื่อนำไปสังเคราะห์งานวิจัยต่อไป

ขั้นตอนที่ 4 การสังเคราะห์ข้อค้นพบจากการวิจัย ขั้นตอนนี้เป็นการใช้วิธีการทางสถิติในการสังเคราะห์บูรณาการข้อค้นพบจากการวิจัยทั้งหมด ให้ได้คำตอบปัญหาวิจัยที่ต้องการ

ขั้นตอนที่ 5 การสรุปและนำเสนอรายงานการวิเคราะห์อภิมาน ขั้นตอนนี้คือการเสนอรายงานการวิเคราะห์อภิมานโดยละเอียด ตั้งแต่ปัญหาการวิจัย วัตถุประสงค์ การสังเคราะห์งานวิจัย ข้อมูลที่ใช้ วิธีการที่ใช้ และผลการดำเนินงานทั้งหมด รวมทั้งการสรุป การอภิปรายผลการวิจัย ตลอดจนการใช้ข้อเสนอแนะ

จากข้อความดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่าการวิเคราะห์อภิมานมีกระบวนการเช่นเดียวกับการวิจัยโดยทั่วไป และจัดว่าเป็นงานวิจัยประเภทสังเคราะห์งานวิจัยที่มีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งดัชนีมาตรฐานที่นักวิจัยใช้ในการวิเคราะห์อภิมานนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ตามลักษณะงานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ คือ

1. ค่าขนาดอิทธิพล ( Effect Size or Effect Magnitude : ES, d) สำหรับการวิจัยเชิงทดลอง

2. ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) สำหรับการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์

บรรณานุกรม

กัลยานี ภาคอัต. (2547), ประมวลสาระชุดวิชาการศึกษาค้นคว้าอิสระ บัณฑิตศึกษา วิชาเอกการพัฒนาครอบครัวและสังคม สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์ครั้งที่ 1.

นงลักษณ์ วิรัชชัย. (2542). การวิเคราะห์อภิมาน.กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปริวัตร เขื่อนแก้ว. เทคนิคการวิเคราะห์อภิมาน (Meta Analysis), (ออนไลน์) 2551 (อ้างเมื่อ 14 เมษายน 2551). จาก http://www.wijai48.com

ปิยมาภรณ์ ดวงมนตรี. Meta analysis, (ออนไลน์) ม.ป.ป. (สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2551). จาก http://san.anamai.moph.go.th/km/view.asp?userid=1&topicid=28

เทพศักดิ์ บุณยรัตพันธุ์. การสังเคราะห์งานวิจัย, (ออนไลน์) 2553 (สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2553).จาก http://www.drmanage.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538662815

สาลี เฉลิมวรรณพงศ์, จิรพรรณ พีรวุฒิและประภาพร ชูกำเนิด. การวิเคราะห์อภิมาน. (ออนไลน์)ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 14 เมษายน 2551 จาก ttp://www.nur.psu.ac.th/about/Graduate/

อุทุมพร จามรมาน.(2531). การสังเคราะห์งานวิจัย : เชิงปริมาณ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Glass, G.V., McGaw, B. and Smith, M.L. (1981). Meta-Analysis in Social Research. Beverly Hills: Sage Publications.

Hedges, L.V. and Olkin, I. (1985). Statistical Methods for Meta-Analysis. Orlando, Florida: Academic Press, Inc.

Hunter, J.E. and others. (1982). Meta-Analysis:Cumulating Research Findings Across Studies. Beverly Hills: Sage Publications.

Keulen, H. van. and J. Wolf (Eds). (1986). Modelling of agricultural production: weather, soils and crops. Simulation Monographs. Pudoc, Wageningen, The Netherlan.

Kulik, J.A. and Kulik, C.C. (1989). Meta-analysis in education. International Journal of Educational Research.

Mullen, B. (1989). Advanced BASIC META-Analysis. New Jersey: Lawrence Erlbaum Associates, Publishers.

1 ความคิดเห็น:

  1. Slot games for Android - Casino.info
    Android 프라하 사이트 casino slot machines online - This is the best slot machine for Android 토토 사이트 운영 games. List of the best games in 벳 365 가상 축구 2021 모모벳 available to play here. Play 버 슬롯 slots for free at

    ตอบลบ